วันศุกร์ที่ 19 สิงหาคม พ.ศ. 2554

ภูมิปัญญาและการแพทย์แผนไทย

ภูมิปัญญาไทย
         หมายถึง ความรู้ ความสามารถ วิธีการ ผลงานที่คนไทยได้ศึกษา เก็บรวบรวมความรู้และจัดเป็นองค์ความรู้ ปรับปรุง พัฒนา ถ่ายทอดจากคนรุ่นหนึ่งไปสู่คนอีกรุ่นหนึ่ง จนเกิดผลดีงาม มีคุณค่า มีประโยชน์ นำไปแก้ปัญหาและพัฒนาชีวิตของคนไทยได้อย่างเหมาะสมกับยุคสมัย



ลักษณะของภูมิปัญญาไทย
         ลักษณะของภูมิปัญญาไทย มีดังนี้
         
1. ภูมิปัญญาไทย เป็นเรื่องใช้ความรู้ (Knowledge) ทักษะ (Skill) ความเชื่อ (Belief) และพฤติกรรม (Behavior)
         2. ภูมิปัญญาไทย แสดงถึงความสัมพันธ์ระหว่างคนกับคน คนกับธรรมชาติสิ่งแวดล้อมและคนกับสิ่งเหนือธรรมชาติ
         3. ภูมิปัญญาไทย เป็นองค์รวมหรือกิจกรรมทุกอย่างในวิถีชีวิต
         4. ภูมิปัญญาไทย เป็นเรื่องของการแก้ไขปัญหา การจัดการ การปรับตัว การเรียนรู้ เพื่อความอยู่รอดของบุคคล ชุมชน
และสังคม
         5. ภูมิปัญญา เป็นแกนหลัก หรือกระบวนทัศน์ในการมองชีวิต เป็นพื้นความรู้ในเรื่องต่าง ๆ
         6. ภูมิปัญญาไทยมีลักษณะเฉพาะหรือมีเอกลักษณ์ในตัวเอง
         7. ภูมิปัญญาไทยมีการเปลี่ยนแปลง เพื่อการปรับสมดุลในพัฒนาการทางสังคมตลอดเวลา



ความสำคัญของภูมิปัญญาไทย
          คุณค่าของภูมิปัญญาไทยสืบทอดมาอย่างต่อเนื่องจากบรรพบุรุษุที่ได้สร้างความเป็นปึกแผ่นมั่นคงให้ชาติบ้านเมือง มีการดำรงชีวิตที่อยู่อย่างร่มเย็นเป็นสุข ทำให้คนในชาติเกิดความรักและความภาคภูมิใจเพื่อสืบสานไปสู่อานาคต สรุปความสำคัญได้ดังนี้
        1. สร้างชาติให้เป็นปึกแผ่นมั่นคง พระมหากษัตริย์ไทยทรงใช้ภูมิปัญญาในการสร้างชาติ สร้างความเป็นปึกแผ่นของประเทศ ตั้งแต่สมัยสุโขทัย จนถึงปัจจุบัน
        
2. สร้างความภาคภูมิใจ ละเกียรติภูมิศักดิ์ศรีของความเป็นไทย เช่น
  •  มวยไทย มีชื่อเสียงไปทั่วโลก ปัจจุบันมีค่ายมวยอยู่ในหลายประเทศทั่วโลก 
  •  ภาษาและวรรณกรรม ช่ไทยมีภาษาผูดและภาษาเขียนเป็นของตนเอง วรรณกรรมเป็นที่รู้จักมีการแปลเป็นภาษาต่างประเทศ สุนทรภู่เป็นนักปราชญ์ทางวรรณกรรมบุคคลหนึ่งที่ได้รับการยกย่องจากองค์การศึกษาวิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งประชาชาติ (ยูเนสโก) เป็นกวีเอกของโลก
  • อาหารไทย เป็นอาหารที่ชาวต่างชาติชื่นชอบและรู้จักกันแพร่หลาย อาทิเช่น ต้มยำกุ้ง ต้มข่าไก่ เป็นต้น
  • สมุนไพรไทย เป็นที่รู้จักและยอมรับจากนานาประเทศ จนบาง ประเทศนำสมุนไพรไทยไปจดเป็นลิขสิทธิ์ของตนเอง
         3. การนำหลักธรรมมาประยุกต์ใช้กับวิถีชีวิตอย่างเหมาะสม ทำให้รู้จักพึ่งพาอาศัยกัน ให้อภัยกัน
         4. การนำธรรมชาติมาใช้ในการดำรงค์ชีวิต เช่น อาหารไทย มักเป็นอาาหาร หวาน มันมีกะทิเป็นส่วนประกอบ หากรับประทานมากก็จะทำให้เกิดท้องอืดได้ ดังนั้น จึงมีการนำพืชสมุนไพร เช่น ตะไคร้ ใบมะกูดมาใส่เพื่อช่วยแก้ปัญหาดังกล่าว
       5. การพัฒนาชีวิตให้เหมาะสมกับยุคสมัย      


ความสำคัญของภูมิปัญญาไทยต่อการเสริมสร้างสุขภาพและการป้องกันโรคในชุมชน
          ทุกชุมชนมีวิถีการดำรงชีวิตเป็นของตนเอง และมีสภาพแวดล้อมที่ต่างกัน ทำให้สมาชิกในชุมชนมีภูมปัญญาที่แตกต่างกันออกไปโดยภูมิปัญญาเหล่านั้นได้ผ่านการลองผิดลองถูก และกลายมาเป็นภูมิปัญญาในการสร้างเสริมสุขภาพ เช่น การรับประทานอาหารที่ถูกหลักโภชนาการ หรือ การประคบสมุนไพรรักษาอาการปวดเมื่อยเป็นต้น ดังนั้นภูมิปัญญาไทยจึงมีความสำคัญต่อสุขภาพใน
เรื่องของการบำบัด บรรเทา รักษาอาการเจ็บป่วย การป้องกันโรค และการเสริมสร้างสุขภาพ


ภูมิปัญญากับการแพทย์แผนไทย
         
การแพทย์แผนไทย หรือมักเป็นที่รู้จักกันว่า การแพทย์แผนโบราณ เป็นความพยายามจะอธิบายภาวะต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับสุขภาพ ทั้งสภาวะปกติ และสภาวะที่ผิดปกติ (เป็นโรค) โดยใช้ทฤษฎีความสมดุลของธาตุต่าง ๆ ในร่างกายเข้ามาอธิบาย ผสมผสานองค์ความรู้จากวัฒนธรรมอินเดีย พุทธศาสนา และองค์ความรู้ที่ถูกพัฒนาขึ้นเองโดยครูการแพทย์แผนไทย คือ ชีวกโกมารภัจจ์ และอาจหมายถึง กระบวนการทางการแพทย์ที่เกี่ยวกับการตรวจ วินิจฉัย บำบัด หรือป้องกันโรค หรือการส่งเสริมและฟื้นฟูสุขภาพของมนุษย์หรือสัตว์ การผดุงครรภ์ การนวดไทย และหมายความรวมถึงการเตรียมการผลิตยาแผนไทย ประดิษฐ์อุปกรณ์ และเครื่องมือทางการแพทย์ โดยอาศัยความรู้หรือตำราที่ได้ถ่ายทอดและสืบต่อกันมา
        
ประวัติการแพทย์แผนไทย พอสรุปเป็นลำดับได้ดังนี้
         - สมัยอยุธยา การแพทย์แผนไทยเริ่มในสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช โดยมีการรวบรวมตำรับยาขึ้นเป็นครั้งแรก
         - สมัยรัตนโกสินทร์ เริ่มตั้งแต่รัชกาลที่ 1 พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ทรงให้มีการรวบรวมและ จารึกตำรายา ตำราการนวดตามศาลาราย มีรูปฤาษีดัดตนในบริเวณวัด
         - พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย มีพระบรมราชโชองการให้ผู้มีความรู้เรื่องสรรพคุณยา และผู้ชำนาญการรักษาโรค และผู้มีตำรายาเข้ามาถวาย โดยให้หมอหลวงพิจารณาคัดเลือก
         - พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดให้มีการจัดตั้งโรงเรียนแพทย์แผนโบราณแห่งแรก คือ โรงเรียนแพทย์แผนโบราณวัดโพธิ์
         

แนวทางการปฏิบัติตามแบบแผนภูมิปัญญาไทยด้านการแพทย์ มีอยู่ 3 แนวทาง คือ
         1. ภูมิปัญญาด้านเภสัช
         2. ภูมิปัญญาด้านเวชกรรมไทย
         3. ภูมิปัญญาด้านการนวดแผนโบราณ



การใช้สมุนไพรไทย
โรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศรได้มีความสนใจในเรื่องสมุนไพร มีการฟื้นฟู ส่งเสริมและศึกษา การผลิตยาแผนไทยเพื่อนำมาใช้ในการรักษาผู้ป่วย ควบคู่ไปกับการรักษาโรคแผนปัจจุบัน โดยศึกษา ค้นคว้า  อาศัยเทคโนโลยีทั้งเก่าและใหม่ ผสมผสานกันไปอย่างต่อเนื่อง เพื่อที่จะนำศักยภาพและความรู้เกี่ยวกับสมุนไพร  ที่มีสรรพคุณการรักษาโรคที่ชัดเจน ปลอดภัย ใช้ประโยชน์ได้จริง ออกเผยแพร่เพื่อการอยู่ดีมีสุข มีคุณภาพชีวิตที่ดี ของประชาชน ผลิตภัณฑ์สมุนไพรที่ทางโรงพยาบาลผลิตจำหน่ายจะอยู่ในรูปของแคปซูล ครีม ยาชง ยาหม่อง  มีดังต่อไปนี้ ยาหม่องน้ำกลิ่นมะกรูด น้ำหอมไล่ยุงธรรมชาติตะไคร้หอม น้ำยากันยุงตะไคร้หอม เถาวัลย์เปรียงแคปซูล ครีมไพล ยาชงหญ้าหนวดแมว เสลดพังพอนคาลาไมน์ ฟ้าทะลายโจรแคปซูล เสลดพังพอนคาลาไมน์ เพชรสังฆาตแคปซูล บอระเพ็ดแคปซูล แชมพูขิง ครีมนวดผมดอกอัญชัน สบู่เปลือกมังคุด สบู่ขมิ้นชัน ฯลฯ


หัตถบำบัด - การนวดไทย
อาจกล่าวได้ว่าปราจีนบุรีเป็นจังหวัดแรกและจังหวัดเดียวในประเทศไทยที่ให้บริการด้านการแพทย์ แผนไทยอย่างต่อเนื่องและจริงจัง นอกจากนำสมุนไพรมาผลิตเป็นผลิตภัณฑ์ประเภทต่างๆ แล้ว โรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศรยังได้จัดโครงการฟื้นฟูการนวดไทย โดยมีทั้งหัตถบำบัด(การนวดแบบไทย) การประคบ ด้วยสมุนไพร และการอบสมุนไพรไว้บริการอีกด้วย นอกจากนี้ที่โรงพยาบาลประจันตคาม โรงพยาบาลกบินทร์บุรี และโรงพยาบาลนาดี ก็ได้ให้บริการนวด อบ และประคบด้วยสมุนไพรด้วยเช่นกัน


การประคบสมุนไพร
การประคบสมุนไพร เป็นวิธีการบำบัดรักษาของการแพทย์แผนไทยซึ่งสามารถนำไปใช้ควบคู่กับการนวดไทย โดยการประคบหลังจากการนวดไทย ประโยชน์ของการประคบสมุนไพร บรรเทาอาการปวดเมื่อย ลดการอักเสบของกล้ามเนื้อหรือบริเวณข้อต่อต่างๆ ลดอาการเกร็งของกล้ามเนื้อ ช่วยกระตุ้นหรือเพิ่มการไหลเวียนโลหิต ช่วยให้เนื้อเยื่อพังผืดคลายตัว ลดการติดขัดของข้อต่อบริเวณที่ประคบ


การอบสมุนไพร
การอบสมุนไพร เป็นวิธีการบำบัด และบรรเทาอาการของโรคของการแพทย์แผนไทย โรคหรืออาการที่สามารถบำบัดรักษาได้ด้วยการอบสมุนไพร มีดังนี้ โรคภูมิแพ้ที่ไม่รุนแรง ความดันโลหิตสูง เป็นหวัดเรื้อรัง อัมพฤกษ์ - อัมพาต ในระยะเริ่มแรก ปวดเมื่อยตามร่างกายทั่วๆ ไป กรณีที่มีอาการเวียนศีรษะ หน้ามืดร่วมด้วย ไม่ควรทำการอบสมุนไพร

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น